ประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน รุดลงพื้นที่จังหวัดสงขลา ติดตามการแก้ไขปัญหาความเสื่อมโทรมลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา และแผนปฏิบัติการจัดการน้ำเสียบริเวณริมคลองสำโรง เน้นย้ำบำบัดน้ำเสียตั้งแต่ต้นทางพร้อมติดตามคุณภาพน้ำอย่างต่อเนื่อง สร้างการมีส่วนร่วมของชุมชนสู่ความสำเร็จอย่างยั่งยืน
วันที่ 29 มิถุนายน 2565 นายสมศักดิ์ สุวรรณสุจริต ประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน พร้อมด้วยพันตำรวจโท กีรป กฤตธีรานนท์ เลขาธิการสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน พันโท เทพจิต วีณะคุปต์ ผู้อำนวยการสำนักสอบสวน 4 และคณะ ลงพื้นที่จังหวัดสงขลา ประชุมติดตามความคืบหน้าการแก้ไขปัญหาความเสื่อมโทรมของลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา และแผนปฏิบัติการจัดการน้ำเสียบริเวณริมคลองสำโรง เพื่อรับทราบข้อเท็จจริง สภาพปัญหา - อุปสรรค และแนวทางพัฒนาแก้ไขปัญหา ณ ห้องประชุม Conference ชั้น 5 ศาลากลางจังหวัดสงขลา โดยมี นายอำพล พงศ์สุวรรณ รองผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา นายไพเจน มากสุวรรณ์ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดสงขลา นายไชยพร นิยมแก้ว นายอำเภอเมืองสงขลา นายอาคม ยุทธนา ผู้อำนวยการสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดสงขลา นายจักรธร สุริแสง นายกเทศมนตรีเมืองเขารูปช้าง ตลอดจนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุม
จากนั้น นายสมศักดิ์ สุวรรณสุจริต ประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน พร้อมคณะและส่วนราชการเกี่ยวข้อง ลงพื้นที่ตรวจสอบปัญหาน้ำเสียของคลองสำโรง โดยจุดแรก ณ บริเวณชุมชนการเคหะ อำเภอเมือง จังหวัดสงขลา และจุดที่สองที่สวนเฉลิมพระเกียรติ 72 พรรษา มหาราชินี อำเภอเมือง จังหวัดสงขลา ด้านประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน กล่าวว่า การลงพื้นที่ในครั้งนี้ เพื่อติดตามแก้ไขปัญหาความเสื่อมโทรมของทะเลสาบสงขลา และรับฟังความคืบหน้าในการดำเนินงานของจังหวัดสงขลา โดยเฉพาะการแก้ไขปัญหาความเสื่อมโทรมของคลองสำโรง ซึ่งเป็นสาเหตุหลักในการปล่อยน้ำเสียลงสู่ทะเลสาบสงขลา คลองสำโรงจึงเป็นคลองที่มีความสำคัญในการแก้ปัญหาหลัก เพราะเป็นคลองที่ไหลผ่านชุมชน ซึ่งมีประชาชนอยู่กันอย่างอย่างหนาแน่นและทิ้งสิ่งปฏิกูลลงสู่ลำคลองให้น้ำเน่าเสีย ทั้งนี้ จังหวัดสงขลาก็ได้ให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหาของคลองสำโรง และได้แต่งตั้งคณะกรรมการอำนวยการแก้ไขปัญหาคลองสำโรง จังหวัดสงขลา โดยมีรองผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา เป็นประธาน และมีส่วนราชการ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ร่วมกันแก้ไขปัญหาข้างต้น ขณะนี้ มีความคืบหน้าด้านแผนปฏิบัติการแก้ไขปัญหาคลองสำโรง ทั้งการแก้ไขปัญหาน้ำเสีย ความตื้นเขินคลองสำโรง และการปรับปรุงภูมิทัศน์ รวมถึงการจัดระเบียบบ้านเรือน ซึ่งแผนงานมีความชัดเจน เหลือแค่การผลักดันงบประมาณ ซึ่งจังหวัดสงขลาจะดำเนินการประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในการที่จัดงบประมาณลงมาแก้ไขปัญหาต่อไป
ทั้งนี้ ได้เน้นย้ำจังหวัดสงขลา ให้ติดตามคุณภาพน้ำอย่างต่อเนื่องและสร้างการมีส่วนร่วมของชุมชน ซึ่งเป็นประเด็นสำคัญที่จะสามารถสะท้อนให้กับชุมชนได้รับทราบ สร้างความตระหนักในการเข้ามามีส่วนร่วมแก้ไขปัญหาร่วมกัน อีกทั้ง การบำบัดน้ำเสียตั้งแต่ต้นทาง เริ่มจากครัวเรือน สถานประกอบการ หรือโรงงาน หากมีการบำบัดน้ำตั้งแต่ต้นทางก่อนปล่อยน้ำลงสู่ลำคลอง ก็จะเป็นน้ำที่สะอาด
.
ณิชารีย์ หนูบุญ/ข่าว/ภาพ
29 มิ.ย.2565
สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดสงขลา