อำเภอนาทวี จังหวัดสงขลา ผลักดันทุเรียนหมอนทองและสายพันธุ์เศรษฐกิจ สร้าง Soft Power ผลไม้ท้องถิ่น ภายใต้แคมเปญ “ทุเรียนสงขลา เสน่ห์แห่งรสชาติที่ต้องลอง” พร้อมตั้งเป้ายกระดับสู่ผลไม้คุณภาพระดับสากล
. วันนี้ 14 กรกฎาคม 2568 ที่สวนทุเรียนบุญรักษา บ้านท่าคลอง หมู่ที่ 4 ตำบลสะท้อน อำเภอนาทวี จังหวัดสงขลา นายสังคม เกิดก่อ รองผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา เป็นประธานในพิธีเปิดกิจกรรมแถลงข่าวประชาสัมพันธ์ทุเรียนคุณภาพ ภายใต้ชื่องาน “ทุเรียนสงขลา เสน่ห์แห่งรสชาติที่ต้องลอง” เพื่อส่งเสริมการรับรู้เกี่ยวกับรสชาติ ความปลอดภัย และมาตรฐานการผลิตทุเรียน พร้อมสนับสนุนการสร้างแบรนด์ผลไม้ท้องถิ่นของจังหวัดสงขลา ภายใต้นโยบาย “เกษตรสร้างเศรษฐกิจ” และ “Soft Power ผลไม้ท้องถิ่น” โดยมีนายวรินทร ทองขาว นายอำเภอนาทวี, นายวีรพันธุ์ นิลวัตร ผู้แทนเกษตรจังหวัดสงขลา หัวหน้าส่วนราชการระดับจังหวัด อำเภอ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เกษตรกร ผู้นำชุมชน กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และสื่อมวลชนเข้าร่วมงานอย่างพร้อมเพรียง
. นายสังคม เกิดก่อ รองผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา กล่าวว่า จังหวัดสงขลาเป็นพื้นที่เหมาะสมต่อการปลูกทุเรียนหลากหลายสายพันธุ์ โดยเฉพาะพันธุ์หมอนทองที่มีคุณภาพดี รสชาติอร่อย มีเอกลักษณ์ และปลอดภัยต่อผู้บริโภค การจัดกิจกรรมในวันนี้จึงมุ่งหวังให้ทุเรียนคุณภาพของสงขลาก้าวไกลจากระดับจังหวัดสู่ระดับประเทศ และเวทีสากล พร้อมสนับสนุนการพัฒนามาตรฐานการผลิต การตรวจสอบคุณภาพ และสร้างความเชื่อมั่นแก่ผู้บริโภค ตลอดจนเพิ่มโอกาสทางการตลาดให้เกษตรกรในพื้นที่สามารถแข่งขันได้อย่างยั่งยืน
. ทั้งนี้ จังหวัดสงขลา มีพื้นที่ปลูกไม้ผลเศรษฐกิจรวมกว่า 39,625 ไร่ โดยเฉพาะทุเรียนมีพื้นที่ปลูกถึง 27,718 ไร่ และให้ผลผลิตแล้ว 20,241 ไร่ ถือเป็นพืชเศรษฐกิจสำคัญที่สร้างรายได้มากกว่า 240 ล้านบาทต่อปี ปลูกทั้งพันธุ์พื้นเมืองและพันธุ์การค้า เช่น หมอนทอง พวงมณี รวมถึงพันธุ์ต่างประเทศ เช่น มูซังคิง โดยผลผลิตทุเรียนปี 2568 คาดว่าจะอยู่ที่ประมาณ 8,982 ตัน ซึ่งออกมากที่สุดในช่วงเดือนกรกฎาคมถึงต้นเดือนสิงหาคม คิดเป็นร้อยละ 76 ของปริมาณผลผลิตทั้งหมด
. เพื่อป้องกันปัญหาทุเรียนอ่อนด้อยคุณภาพ จังหวัดสงขลาได้ดำเนินมาตรการควบคุมคุณภาพ โดยกำหนดวันเริ่มเก็บเกี่ยวทุเรียนพันธุ์หมอนทองตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2568 และส่งเสริมการผลิตคุณภาพผ่านการบูรณาการกับทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ เอกชน และเกษตรกร อาทิ การวางแผนการผลิตเชิงคุณภาพ การสนับสนุนเกษตรแปลงใหญ่ การจัดตั้งแปลงต้นแบบไม้ผลครบวงจร และการรับรองมาตรฐาน GAP และ GI โดยปัจจุบันมีเกษตรกรผ่านการรับรอง GAP แล้วจำนวน 662 แปลง รวมพื้นที่กว่า 3,600 ไร่
. กิจกรรมภายในงาน ประกอบด้วย เวทีเสวนาในหัวข้อ “ทุเรียนสงขลา เสน่ห์แห่งรสชาติที่ต้องลอง” โดยมีผู้ร่วมเสวนา ประกอบด้วย รองผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา, สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 8, พาณิชย์จังหวัดสงขลา, ประธานชมรมกินกาแฟแลสวนเรียนสะท้อน และเจ้าของสวนบุญรักษา ร่วมแลกเปลี่ยนมุมมองเกี่ยวกับการพัฒนาทุเรียนคุณภาพ นอกจากนี้ ยังมีกิจกรรมตัดทุเรียนจากสวนจริง พร้อมนิทรรศการฐานเรียนรู้ เช่น การตรวจเปอร์เซ็นต์น้ำหนักแห้ง และการควบคุมโรคด้วยชีววิธี เพื่อถ่ายทอดองค์ความรู้สู่เกษตรกร
. สำหรับสวนทุเรียนบุญรักษา ของนายวิระ วิศพันธุ์ ตั้งอยู่ที่บ้านท่าคลอง หมู่ที่ 4 ตำบลสะท้อน อำเภอนาทวี จังหวัดสงขลา เกิดจากความตั้งใจนำที่ดินมรดกของแม่มาปรับปรุงและพัฒนาเป็นสวนทุเรียนบนพื้นที่กว่า 13 ไร่ ปลูกทุเรียนมากกว่า 300 ต้น ภายใต้ชื่อ “บุญรักษา” ที่แสดงถึงความกตัญญูและความตั้งใจในการสืบสานคุณค่าของผืนดินและครอบครัว ปัจจุบันสวนแห่งนี้กลายเป็นแหล่งผลิตทุเรียนคุณภาพในท้องถิ่น และเป็นตัวอย่างของเกษตรกรรุ่นใหม่ที่มีวิสัยทัศน์และหัวใจรักบ้านเกิด
ศิริลักษณ์/ข่าว
ธีรธรรม/ภาพ
สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดสงขลา
14 กรกฎาคม 2568