ศูนย์อำนวยการจิตอาสาพระราชทาน จังหวัดสงขลา ขับเคลื่อนแนวทางการดำเนินโครงการพระราชทานในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว "โคก หนอง นา แห่งน้ำใจและความหวัง กรมราชทัณฑ์ "
วันนี้ (27 ม.ค. 64) ห้องประชุม CEO ศาลากลางจังหวัดสงขลา นายวรณัฏฐ์ หนูรอต รองผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา ในฐานะรองผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการจิตอาสาพระราชทานจังหวัดสงขลา เป็นประธานประชุมชี้แจงแนวทางการดำเนินการโครงการพระราชทานในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว "โคก หนอง นา แห่งน้ำใจและความหวัง กรมราชทัณฑ์ " โดยมีนางนิภา งามไตรไร ผู้บัญชาการเรือนจำกลางสงขลา นายดำรงค์ บัวฤทธิ์ ผู้บัญชาการเรือนจำจังหวัดสงขลา นางณิชกมล ไตรรัตนคุ้ม ผู้อำนวยการทัณฑสถานหญิงสงขลา ผู้แทนจากทัณฑสถานบำบัดพิเศษสงขลา เรือนจำอำเภอนาทวี และจิตอาสา 904 เข้าร่วมอย่างพร้อมเพรียง
นายวรณัฏฐ์ หนูรอต รองผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา ในฐานะรองผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการจิตอาสาพระราชทานจังหวัดสงขลา กล่าวว่า โครงการพระราชทานในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว “โคก หนอง นา แห่งน้ำใจและความหวัง กรมราชทัณฑ์" เป็นโครงการพระราชทาน เพื่อนำมาใช้เป็นแนวทางในการพัฒนาพฤตินิสัยผู้ต้องขัง ก่อนจะพ้นโทษกลับสู่สังคม และเมื่อปล่อยตัวแล้วให้คนเหล่านี้ มีอาชีพเลี้ยงตัวเองได้โดยเป็นการประยุกต์ใช้ความรู้เกี่ยวกับเกษตรทฤษฎีใหม่ในพื้นที่ขนาดเล็ก สาระสำคัญ คือ เตรียมความพร้อมให้ผู้ต้องขังก่อนพ้นโทษ และหลังปล่อยตัวให้สามารถอยู่ได้อย่างพอมี พออยู่ พอกิน และไม่หวนกลับไปทำความผิดซ้ำอีก
โดยแนวทางการดำเนินการในระดับศูนย์อำนวยการจิตอาสาพระราชทาน จังหวัด/กทม. ให้ดำเนินการจัดตั้งศูนย์ประสานงานระดับจังหวัด และระดับอำเภอ จัดประชุมชี้แจงแนวทางในการติดตามให้กับจิตอาสา 904 รวมถึงออกคำสั่งแต่งตั้งจิตอาสา 904 ผู้รับผิดชอบ และให้จิตอาสา 904 ติดตามกลุ่มเป้าหมายทุกราย พร้อมส่งแบบ CARE Support ให้ศูนย์ CARE โดยการจำแนกกลุ่มเป้าหมายออกเป็น 3 กลุ่ม ประกอบด้วย กลุ่มที่ 1 สามารถพึ่งพาตนเองได้ กลุ่มที่ 2 ต้องการรับการสนับสนุนจากส่วนราชการต่างๆ กลุ่มที่ 3 ไม่สามารถพึ่งพาตนเองได้ และให้ศูนย์ประสานงาน วิเคราะห์ปัญหาความต้องการ หนทางให้การสนับสนุน
สำหรับ โครงการพระราชทานในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว "โคก หนอง นา แห่งน้ำใจและความหวัง กรมราชทัณฑ์" ได้เริ่มดำเนินโครงการเมื่อวันที่ 1 กันยายน 2563 เป็นโครงการเตรียมความพร้อมก่อนปล่อย ด้วยการสร้างต้นแบบการเกษตรทฤษฎีใหม่ใน พื้นที่ขนาดเล็กในทุกเงื่อนไขของพื้นที่เพื่อให้ ผู้พ้นโทษสามารถพึ่งพาตนเอง รวมถึงช่วยเหลือผู้ที่เดือดร้อนได้ โดยมุ่งไปที่การปรับเปลี่ยนองค์ความคิด หรือ Mindset ที่จะช่วยพัฒนาทักษะด้านความคิด ทัศนคติ และร่างกายของผู้ต้องขังให้มีวินัย ความรัก ความสามัคคี และการช่วยเหลือเกื้อกูลกันได้เป็นอย่างดี
ทั้งนี้ การฝึกอบรมของโครงการฯ ดังกล่าว จะดำเนินการอบรมทั้งภาคทฤษฎี และภาคปฏิบัติเป็นระยะเวลา 14 วัน ด้วยการน้อมนำ สืบสาน และต่อยอดหลักเกษตรทฤษฎีใหม่ของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ที่เป็นการประยุกต์ทฤษฎีใหม่แบบชาวบ้าน ปั้นโคก ขุดหนอง ทำนา ซึ่งจะมุ่งเน้นให้ผู้เข้ารับการฝึกอบรมได้ลงมือปฏิบัติ และแก้ไขปัญหาจากสถานการณ์จริง เพื่อให้เห็นผลเป็น รูปธรรม
ศิริลักษณ์ แคล้วคลาด/ข่าว
ประชา-วงศ์นิธิ/ภาพ
สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดสงขลา
27 ม.ค. 64