จังหวัดสงขลา เตรียมพร้อมรับมือสถานการณ์อุทกภัย วาตภัย และดินถล่ม ประจำปีงบประมาณ 2564 ภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19
วันนี้ (3 ก.ย. 64) นายวรณัฎฐ์ หนูรอต รองผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา เปิดการซักซ้อมแนวทางการรับมือสถานการณ์อุทกภัย วาตภัย และดินถล่ม ประจำปีงบประมาณ 2564 ภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ทั้งก่อนเกิดภัยพิบัติ ขณะเกิดภัยพิบัติ และหลังเกิดภัยพิบัติ ผ่านระบบการประชุมทางไกล (Zoom Meeting) และ Line ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อเน้นย้ำบทบาท หน้าที่ ตลอดจนสร้างความเข้าใจถึงกลไก และการทำงานร่วมกันตามแนวทางของระบบบัญชาการเหตุการณ์ เพื่อให้การดำเดินงานมีความเหมาะสม สอดคล้องกับสถานการณ์ในปัจจุบัน และสามารถช่วยเหลือผู้ประสบภัยเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ตลอดจนฟื้นฟูผู้ประสบภัย และพื้นที่ประสบภัยให้กลับสู่สภาวะปกติอย่างรวดเร็ว โดยมีนายเชาวลิต นิฒรรัตน์ หัวหน้าสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดสงขลา และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องเข้าร่วม ณ ห้องประชุม 1 ศาลากลางจังหวัดสงขลา
นายวรณัฎฐ์ หนูรอต รองผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา กล่าวว่า การซักซ้อมแผนบนโต๊ะ (TTX) ถือเป็นขั้นตอนสำคัญของการเตรียมความพร้อมรับมือสถานการณ์อุทกภัยที่จะเกิดขึ้นในพื้นที่เสี่ยงของจังหวัดสงขลา โดยจากนี้จะมีการถอดบทเรียนจากการประชุม ซ้อมแผน เพื่อปรับเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินการให้มากยิ่งขึ้น เตรียมความพร้อมรับมือสถานการณ์อุทกภัยในช่วงฤดูฝนปี 2564 เพื่อทดสอบความเข้าใจของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการบูรณาการปฏิบัติตามแผนเผชิญเหตุอุทกภัย ของจังหวัด อีกทั้งเพื่อชี้แจงทำความเข้าใจแนวคิดการ ประกอบการฝึกอธิบายวัตถุประสงค์รูปแบบการฝึก แผนการดำเนินงาน และเป้าหมายของการฝึกเพื่อดำเนิน การเตรียมการจัดการฝึกต่อไป
สำหรับการซักซ้อมแนวทางในครั้งนี้ มีการสมมุติสถานการณ์อุทกภัยที่อาจจะเกิดขึ้นในพื้นที่ โดยให้หน่วยงานระดับจังหวัด และทุกอำเภอเตรียมพร้อมรับมือสถานการณ์ ทั้งแนวทางการแจ้งเตือนภัยระดับจังหวัด ระดับอำเภอ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ความพร้อมของเครื่องมือ อุปกรณ์ เครื่องจักรกล กำลังพล ช่องทางการสื่อสารในการเตือนภัย หอเตือนภัย การตรวจสอบความมั่นคงแข็งแรงของเขื่อน อ่างเก็บน้ำขนาดต่างๆ รวมถึงพนังกั้นน้ำที่เคยพังทลายเนื่องจากอุทกภัย การรายงานข่าวผ่านสื่อสังคมออนไลน์ การสื่อสารประชาสัมพันธ์เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ประชาชน และสร้างการรับรู้และความเข้าใจที่ถูกต้องในสถานการณ์ที่เกิดขึ้น แนวทางการเข้าช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่ที่ประสบภัย การอพยพเคลื่อนย้ายผู้ประสบภัย การจัดศูนย์พักพิงชั่วคราว การดูแลความปลอดภัย การจัดหาอาหาร น้ำดื่ม การส่งต่อข้อมูลเพื่อให้ประชาชนปลายน้ำรับทราบและเตรียมตัวก่อนน้ำมาถึง แนวทางในการประกาศเขตการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติ การประเมินความเสียหาย และขั้นตอนการฟื้นฟูหลังเข้าสู่ภาวะปกติ เป็นต้น โดยจะต้องดำเนินการควบคู่กับมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19
ศิริลักษณ์ แคล้วคลาด/ข่าว/ภาพ
สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดสงขลา
3 ส.ค. 64